สิ่งที่ต้องรู้ ในการจัดชุดเครื่องเสียงรถยนต์ เบื้องต้น

ความรู้พื้นฐานในการจัดชุดเครื่องเสียงรถยนต์

เครื่องเสียงรถยนต์ระบบต่างๆ

HI-POWER เป็นระบบพื้นฐานของเครื่องเสียงรถยนต์ และเป็นระบบที่ประหยัดงบที่สุด โดยใช้ภาคขยายจากตัววิทยุ
ไม่ต้องพึ่งพาพาวเวอร์แอมป์ โดยอาจจะเล่นลำโพงคู่หน้าขนาด 5-6นิ้ว ส่วนลำโพงชุดหลัง 6นิ้ว หรืออาจจะ 6x9 ก็ได้

SINGLE-AMP เป็นระบบที่ขยับต่อมาจาก HI-POWER โดยการเพิ่มแอมป์ไป 1ตัว อาจจะเป็นแอมป์ 4CH
เพื่อขับลำโพงทั้ง 2คู่ หน้า-หลัง เพื่อให้เสียงที่ได้นั้นอิ่มแน่นขึ้น และมีรายละเอียดชัดเจนขึ้น

BI-AMP เป็นระบบที่นิยมสูงมากในปัจจุบัน คำว่า BI หรือ 2 ไม่ได้หมายความว่าใช้แอมป์ 2ตัวนะครับ
แต่เป็นการแยกสัญญาณเสียงออกมา 2ชุด คือ กลาง/แหลม และซับวูเฟอร์ออกจากกัน
โดยที่ปัจจุบันนี้สามารถใช้ครอสส์โอเวอร์ในแอมป์ตัดสัญญาณได้เลย ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอีเลคทรอนิคส์ ครอสส์โอเวอร์เหมือนสมัยก่อน

TRI-AMP เป็นระบบที่น่าปวดหัวมากพอสมควร เพราะต้องหาจุดตัดครอสส์โอเวอร์ให้ได้เหมาะสมทั้งหมด 3สัญญาณเสียง
คืือ สูง/กลาง/ตํ่า แยกอิสระกันหมด แต่ต้องออกมากลมกลืน สอดคล้องกันอย่างลงตัว ซึ่งจำเป็นต้องใช้นักจูนมืออาชีพช่วยจัดการ

Class ของ พาวเวอร์แอมป์์


ในเรื่องการแบ่งคลาสของแอมป์นั้น จะแบ่งจากการไปอัดกระแสไฟให้กับทรานซิสเตอร์ ที่ทำหน้าที่ในวงจรขยายเสียง
โดยจะยกตัวอย่างเพียง 4ประเภทดังนี้

1. Class A พาวเวอร์แอมป์ชนิดนี้เน้นในเรื่องของคุณภาพเสียง ค่าความเพี้ยนตํ่า
และเสียงรบกวนน้อยแต่มีข้อเสียในเรื่องของความร้อนที่ค่อนข้างจะสูง
เพราะ มีการป้อนกระแสไฟให้ทรานซิสเตอร์อยู่ตลอดเวลาถึงแม้จะไม่มีสัญญาณอินพุทเข้ามาก็ตาม
และกำลังขับที่ได้นั้นก็ค่อนข้างจะน้อย แอมป์ประเภทนี้จึงเหมาะกับนักฟังที่เน้นรายละเอียดของเสียงกลาง-แหลม ไม่เน้นอัดตูมตาม

2. Class B เป็นการใช้ทรานซิสเตอร์ 2ตัว ทำงานแบบ Push-Pull หรือ ผลัก ดัน ช่วยกันทำงานคนละครึ่งทาง และจะไม่มีการป้อนกระแสไฟล่วงหน้า ซึ่งมีข้อดีคือเครื่องไม่ร้อน แต่ข้อเสียกลับมากกว่าเพราะความผิดเพี้ยนสูงมาก เสียงจึงไม่มีคุณภาพ แต่ในปัจจุบันแอมป์ คลาสนี้คงจะไม่มีแล้ว

3. Class AB เป็นการรวมตัวกันของแอมป์ทั้ง 2คลาสที่กล่าวมา คือใช้ทรานซิสเตอร์ 2ตัว แต่จะมีการป้อนกระแสไฟปริมาณตํ่าๆเอาไว้ล่วงหน้าอยู่ตลอดแต่จะไม่มากเท่าคลา ส A และการจัดวงจรก็ใช้แบบ Push-Pull เหมือนคลาส B จึงทำให้พาวเวอร์แอมป์ประเภทนี้มีคุณภาพเสียงที่ค่อนข้างดี ถึงแม้จะไม่เท่าคลาส A แต่ได้เปรียบในเรื่องของกำลังขับที่มากกว่า
และเกิดความร้อนน้อยกว่า และคลาส AB นี้แหละเป็นแอมป์ที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน
และสามารถนำไปขับได้ทั้งลำโพงกลาง-แหลม หรือแม้แต่ซับวูเฟอร์ก็ได้

4. Class D เป็นพาวเวอร์แอมป์กำลังขับสูง เน้นหนักในเรื่องพละกำลังเพียงอย่างเดียว แอมป์ชนิดนี้ถูกออกแบบมาสำหรับขับซับโดยเฉพาะ เหมาะกับพวกที่ชอบฟังเพลงหนักๆ เน้นพลังเบส กระแทกแรงๆ

ตู้ปิดและตู้เปิด

การ ตี ตู้นั้นคือการออกแบบตู้ให้มีขนาดเหมาะสมกับลำโพงหรือซับวูลเฟอร์ที่เราจะใส่ ลงไป ซึ่งสำหรับรถยนต์นั้นก็คงจะเห็นกันบ่อยแต่ตู้ซับวูลเฟอร์
เพราะลำโพงที่อยู่ในประตูรถนั้น ในส่วนของประตูนี่แหละที่จะทำหน้าที่เป็นตู้ลำโพงให้นั้นเอง
แต่ถ้าเป็นเครื่องเสียงบ้านเราก็มักจะเห็นลำโพงอยู่ในตู้กันเป็นปกติอยู่แล้ว และหลักการพื้นฐานนั้นก็เหมือนๆกัน
ซึ่งปกติที่พบเห็นกันบ่อยคงหนีไม่พ้น ตู้ปิด และ ตู้เปิด นั้นเอง

1. ตู้ปิด หรือภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Acoustic suspension เป็นการออกแบบตู้ซับวูลเฟอร์ให้ปิดทึบทุกด้านตามชื่อของมัน ซึ่งอากาศจะอยู่ภายในตู้นั้นจะไม่มีมีช่องทางให้อากาศไหลเข้าหรือออกไปได้ นั้นเอง แนวเสียงเบสของตู้ชนิดนี้ จะได้เสียงที่แน่น ลงลึก
แถมยัง มีข้อดีที่จูนง่าย รวมถึงยังใช้ขนาดตู้ไม่ใหญ่มาก แต่เสียงที่ได้ค่อนข้างดี และเป็นตู้ที่ผมชอบมากที่สุดอีกด้วย ส่วนข้อเสียคือต้องใช้กำลังขับจากแอมป์ค่อนข้างมากกว่าตู้แบบอื่น แต่ด้วยเทคโนโลยีในสมัยนี้นั้น เรื่องกำลังขับคงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพียงแต่ต้องเลือกแอมป์และซับวูลเฟอร์ให้เหมาะสมกัน รวมถึงแนวเสียงของซับก็ต้องเลือกให้ถูกใจผู้ฟัง และขนาดตู้นั้นก็ต้องให้เหมาะสมกันด้วย

2. ตู้เปิด หรือภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Bass reflex ตู้ชนิดนี้นั้นจะมีรูหรือท่อช่วยระบายเสียงเบส โดยการออกแบบนั้นจะต้องคำนวนให้ดี เพราะต้องคำนึงถึงการผลักของอากาศให้ไปในทิศทางเดียวกันเสมอ จุดประสงค์ของตู้เปิดนั้นคือ ให้เสียงเบสที่ค่อนข้างมาก (ปริมาณเสียงเบส) ในขณะที่ใช้กำลังขับจากแอมป์ที่เท่ากัน ซึ่งข้อดีก็คือได้เสียงที่ดังกว่าตู้ปิด แต่ข้อเสียก็คือคุณภาพเสียงเบสนั้นจะไม่แน่น ลงลึก เท่ากับตู้ปิด รวมถึงขนาดตู้ก็ค่อนข้างจะมีขนาดใหญ่


นอกจากนี้ก็ยังมีตู้แบบอื่นๆอีก เช่น Bandpass ที่หลังๆก็เริ่มได้ความนิยมกันมากขึ้นเพราะดูสวยงาม

Capacitor หรือที่เราคุ้นหูว่า cap คืออะไร


power capacitor หรือที่เราได้ยินกันบ่อยๆว่า cap เป็นตัวสำรองไฟให้กับชุดเครื่องเสียง โดยเฉพาะเครื่องเสียงชุดใหญ่ที่จำเป็นต้องใช้ไฟมากๆ ยิ่งเฉพาะในช่วงที่มีเสียงเบสเยอะๆในระยะเวลาสั้นๆ ไฟจากแบตเตอรี่รถยนต์นั้นอาจจะส่งมาไม่ทันหรือไม่เพียงพอ ทำให้พาวเวอร์แอมป์ไม่สามารถจ่ายพลังงานไปให้ลำโพงได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้คุณภาพเสียงที่ออกจากลำโพงนั้นลดลง


เจ้า capacitor จึงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของระบบไฟนี้เอง โดยปกติแล้วมันจะเก็บประจุไฟเอาไว้เต็มอยู่เสมอ แต่เมื่อใดที่พาวเวอร์แอมป์ต้องการกำลังไฟมากขึ้นและแบตเตอรี่ส่งมาให้ไม่ เพียงพอ ไฟที่ถูกเก็บสำรองอยู่ใน capacitor
ก็จะถูกนำมาใช้ในช่วงนั้น แล้วก็จะเริ่มสะสมไฟใหม่อีกครั้งจนเต็ม และจะทำงานอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ

ใน ปัจจุบันนี้รถหลายๆรุ่น มักจะลดต้นทุนโดยการให้แบตเตอรี่ ลูกเล็กมากับรถ ซึ่งจะเล่นเครื่องเสียงทีก็ลำบากในเรื่องระบบไฟอยู่พอสมควร สังเกตุง่ายๆสำหรับคนที่ไปทำเครื่องเสียงมาอาจจะเปลี่ยนแค่ ฟร้อน แล้วมีอาการ ไฟหน้าจอวูบๆ นั้นแหละครับ อาการของไฟไม่พอ ฉนั้นไม่จำเป็นต้องเครื่องเสียงชุดใหญ่ที่จะต้องใช้ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับระบบไฟของรถว่าเพียงพอหรือไม่